นักวิทยาศาสตร์ คาดการณ์ว่าจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เนื่องจากก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas) ซึ่งมีคุณสมบัติในการดูดซับคลื่นรังสีความร้อน ห่อหุ้มชั้นบรรยากาศ ส่งผลให้โลกประสบกับอากาศที่ร้อนขึ้นเกิน 2 องศา และเข้าสู่ภาวะวิกฤติ
จากข้อมูลของ Global Carbon Atlas (2020) พบว่า ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของทั้งโลกราว 33,805.10 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดย 5 ประเทศที่ปล่อยมากที่สุด ได้แก่ จีน, สหรัฐอเมริกา, อินเดีย, รัสเซีย และญี่ปุ่น ตามลำดับ
“ไทย” อยู่ที่ 24 ของโลก ปล่อยก๊าซเรือนกระจก 258 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือคิดเป็น 0.76% แม้ประเทศไทยจะเป็นประเทศเล็ก ๆ ที่สร้างผลกระทบไม่ถึง 1% … แต่ถูกจัดอยู่ในประเทศที่ได้รับผลกระทบและมีความเสี่ยงสูงที่สุดของโลกเป็นอันดับที่ 9
Germanwatch หน่วยงานที่ติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ได้จัดทำแผนที่ความเสี่ยงของทุกประเทศในโลกขึ้น ว่าหากเกิดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในแต่ละประเทศทั่วโลกจะได้รับความเสี่ยงอย่างไรบ้าง โดยวิเคราะห์จากข้อมูลย้อนหลัง 20 ปี มีความถี่ของการเกิดภัยพิบัติ ความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น โดยประเทศไทยมีการสูญเสียทางเศรษฐกิจมาก ทั้งยังไม่มีแผนและมาตรการที่ชัดเจนในการรองรับสภาพการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ จึงถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 9 ของโลกที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด
จากการประชุม Blue Carbon Conference 2022 คาร์บอนทะเล: หนุนธุรกิจสู่ Net Zero เสริมระบบนิเวศและชุมชนที่ผ่านมา ซึ่งสนับสนุนความมุ่งมั่นของภาคธุรกิจในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศอย่างเป็นรูปธรรมในพื้นที่เป้าหมาย ชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยเกือบทุกภูมิภาคจะได้รับผลกระทบ จังหวัดชายฝั่งทะเล กรุงเทพมหานคร และที่ลุ่มภาคกลาง มีความเสี่ยงในการจมของแผ่นดิน การท่วมถึงของน้ำทะเล สำหรับภาคเหนือและอีสานจะเกิดความเสี่ยงจากภัยแล้ง ภัยพิบัติ ไฟป่า แผ่นดินถล่ม ไปจนถึงผลผลิตทางการเกษตร ประมงชายฝั่ง เกิดการสูญเสียทั้งพืชและสัตว์ กระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ และฐานทรัพยากรต้นทุนที่เป็นต้นทุนการท่องเที่ยวของประเทศที่ขายความงดงามของทรัพยากรธรรมชาติ และคาดว่าในอีกไม่เกิน 10 ปี จะส่งผลกระทบต่างๆ ต่อเนื่องจนเป็นลูกโซ่
แหล่งที่มา :