Rights of Nature สิทธิของธรรมชาติที่มนุษย์ต้องคุ้มครอง 20 กุมภาพันธ์ 2566  64  กองส่งเสริมและเผยแพร่ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมด้านสิ่งแวดล้อมพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม



                    เมื่อเราไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือถูกคุกคาม เราสามารถร้องเรียกความยุติธรรมได้ แต่ทว่า ธรรมชาติที่สร้างสรรค์ทุกสิ่งบนโลกนั้น ไม่สามารถจะเรียกร้องใดๆ ได้ เมื่อถูกเบียดเบียน ซึ่งธรรมชาติได้สื่อสารกับมนุษย์ในรูปแบบภัยพิบัติแทน ดังนั้น ธรรมชาติก็ควรได้รับสิทธิ (Rights of Nature) เช่นกัน
                    ซึ่งในหลายประเทศมีการเคลื่อนไหวและออกกฎหมายระดับชาติในการให้สิทธิคุ้มครองธรรมชาติ อาทิ ประเทศโคลัมเบีย นิวซีแลนด์ บังกลาเทศ บราซิล เม็กซิโก และล่าสุดคือ ประเทศปานามา ซึ่งเป็นหนึ่งใน 25 ประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดในโลก และมีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก
                    โดยแนวคิดสิทธิของธรรมชาติ (Rights of Nature) ทางกฎหมายคล้ายกับแนวคิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน โดยระบุว่า สิทธิของธรรมชาติ เป็นสิทธิที่มีแต่กำเนิด ซึ่งเกี่ยวข้องกับระบบนิเวศต่างๆ และความอยู่รอดของสายพันธุ์สิ่งมีชีวิต รวมถึงมนุษย์ด้วย ทั้งสิทธิในการดำรงอยู่ (Exist) สิทธิในการเจริญเติบโต (Persist) และสิทธิในการสร้างวงจรชีวิตใหม่ (Regenerate life circle)
                    ซึ่งการดำรงอยู่ของมนุษย์ล้วนพึ่งพาธรรมชาติ ทำให้มนุษย์มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดและได้รับอิทธิพลจากธรรมชาติ ฉะนั้น จำเป็นต้องหยุดปฏิบัติต่อธรรมชาติในฐานะสิ่งของหรือทรัพย์สิน และควรให้ธรรมชาติมีสิทธิเป็นของตัวเองในฐานะสิ่งมีชีวิตและบุคคลตามกฎหมาย เพื่อให้ธรรมชาติสามารถปกป้องตัวเองจากมนุษย์ได้
                    การออกกฎหมายคุ้มครองสิทธิของธรรมชาติจะกำหนดให้รัฐบาลมีหน้าที่ในการออกนโยบาย และการดำเนินโครงการต่างๆ ภายใต้ความเคารพสิทธิของธรรมชาติ รวมถึงมีหน้าที่ส่งเสริมสิทธิของธรรมชาติ และเมื่อธรรมชาติถูกเบียดเบียน จนทำให้เกิดความเสื่อมโทรมจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ธรรมชาติสามารถฟ้องดำเนินคดีในชั้นศาลได้โดยผ่านตัวแทนตามกฎหมาย ซึ่งตัวแทนเป็นได้ทั้งบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ส่วนใหญ่เป็นผู้เชี่ยวชาญในการดูแลและจัดการระบบนิเวศหรือสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์นั้นๆ
                    ในประเทศเอกวาดอร์ ถือเป็นประเทศแรกที่ออกกฎหมายรองรับสิทธิของธรรมชาติอย่างเป็นรูปธรรม โดยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เมื่อปี 2008 ซึ่งต่อมา ปี 2011 ได้เกิดการฟ้องดำเนินคดีโดยใช้สิทธิของธรรมชาติในนามของแม่น้ำวิลกาบัมบา(Vilcabamba) โดยเป็นการฟ้องโครงการสร้างถนนข้ามแม่น้ำของรัฐบาลประจำจังหวัด ซึ่งโครงการได้ทิ้งเศษหินและอิฐลงแม่น้ำ ผลพิจารณาคดีให้แม่น้ำเป็นฝ่ายชนะ ทำให้แม่น้ำได้รับการคุ้มครองสิทธิและการเยียวยาจากความเสียหายที่เกิดขึ้น
                   สำหรับประเทศไทย ถึงแม้ยังไม่มีการออกกฎหมายรับรองคุ้มครองสิทธิของธรรมชาติ (Rights of Nature) ตามกฎหมาย แต่ได้มีการรับรองสิทธิขั้นพื้นฐานแก่บุคคลด้านสิ่งแวดล้อมที่บัญญัติให้บุคคลและชุมชนมีสิทธิจัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน


แหล่งที่มา :

https://www.bangkokbiznews.com/environ....

https://www.facebook.com/people....

https://www.iucn.org/news/world-com....

https://ipbes.net/policy....

20 เมษายน 2564  303

อุตสาหกรรมอาหารที่ลดภาระต่อสิ่งแวดล้อม

23 กุมภาพันธ์ 2566  112

WHY? ทำไม "ไทย" จึงเสี่ยงได้รับผลกระทบ "Climate Change" อันดับ 9 ของโลก