การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คือ ปัญหาสิ่งแวดล้อมระดับโลก ซึ่งนานาชาติทั่วโลกจะต้องกำหนดเป้าหมายร่วมกันในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มาจากกิจกรรมต่างๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 เป็นต้นมา หลายประเทศทั่วโลกจะเริ่มดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามแผนงานที่แต่ละประเทศได้เสนอไว้ ตามความตกลงปารีสซึ่งหลายฝ่าย ทั่วโลก ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม และประชาชนทั่วไป ต่างออกมารณรงค์ให้มีการตระหนักถึงปัญหานี้และกำหนดมาตรการที่เป็นรูปธรรม เช่น สนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด ลดการบริโภคเนื้อสัตว์ให้น้อยลง เลือกอาหารในท้องถิ่นและมาจากธรรมชาติเมื่อเป็นไปได้ และซื้ออาหารที่บรรจุภัณฑ์สร้างภาระขยะน้อยที่สุด ประหยัดการใช้น้ำ เลือกรถที่ประหยัดน้ำมัน สนับสนุนการรีไซเคิล สนับสนุนวัสดุที่นำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งใช้พลังงานในการผลิตน้อยกว่า จึงก่อให้เกิดมลพิษน้อยกว่า
เมื่อวันเสาร์ที่ 13 พ.ย. 2564 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการประชุมสมัชชาประเทศภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 (COP26) ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ ที่ประชุมได้บรรลุข้อตกลงระดับโลกฉบับใหม่ ที่ร่วมกันกำหนดแผนลดการใช้ถ่านหิน ซึ่งเป็นเชื่อเพลิงฟอสซิลที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดเป็นครั้งแรก ในการประชุมเดียวกัน ผู้นำกว่า 100 ชาติได้ลงนามในคำประกาศให้คำมั่นที่จะยุติการตัดไม้ทำลายป่า และฟื้นฟูป่าไม้ภายในปีพ.ศ. 2573
ขณะที่ประเทศไทย ได้ประกาศเจตจำนงตั้งเป้าบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนในปีพ.ศ. 2593ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปีพ.ศ. 2608 และไทยจะเพิ่มเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 40 จากร้อยละ 25 ในปี พ.ศ. 2573 ทั้งนี้ทั่วโลกต้องวางแผนให้สอดรับกับอนาคตเพราะ ก๊าซเรือนกระจกนั้นใช้เวลาย่อยสลาย 50 ปี แม้หยุดปล่อยในวันนี้ ก็ยังรับผลกระทบไปอีก 40-50 ปี ข้างหน้า
แหล่งอ้างอิง
- https://www.sdgmove.com/.../sdg-updates-extream-heat.../
- https://www.pier.or.th/abridged/2021/15/
- https://www.bangkokbiznews.com/social/993379
- https://www.thairath.co.th/news/local/2259407