อุตสาหกรรมการเกษตร
ถือเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญไม่ว่าจะเป็นประเทศไหนๆ รวมถึงประเทศไทยด้วย
แต่อุตสาหกรรมเหล่านี้กลับสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างภาวะโลกร้อนโดยเฉพาะการทำปศุสัตว์โครวมถึงสัตว์เคี้ยวเอี้ยงชนิดอื่นๆ
โดยมีงานวิจัยเผยว่าการทำปศุสัตว์ทำให้เกิดก๊าซไนตรัสออกไซด์ที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกประมาณร้อยละ
10 ของก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์
นอกจากนี้สัตว์เคี้ยวเอื้องยังปล่อยก๊าซมีเทนที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกได้รุนแรงกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หลายเท่า
โดยทำให้เกิดก๊าซมีเทนในอัตราส่วนร้อยละ 37 เมื่อเทียบกับก๊าซมีเทนที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์
ซึ่งวัวหนึ่งตัวปล่อยก๊าซมีเทนเฉลี่ย 70 – 120 กก./ปี
โดยทั่วโลกมีวัวประมาณ 1,500
ล้านตัว และในประเทศไทยมีโคเนื้อและโคนมประมาณ 9.5 ล้านตัว
(ข้อมูลเมื่อเดือนสิงหาคม 2564)
อย่างไรก็ตาม เกษตรกรสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์และก๊าซมีเทนที่เกิดจากปศุสัตว์โคได้
โดยมีงานวิจัยที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างเยอรมนีและนิวซีแลนด์
ซึ่งได้ทดลองฝึกวัวให้เข้าห้องน้ำที่สร้างขึ้นโดยเฉพาะมีห้องแยกเป็นส่วนจากคอกวัวเรียกว่า
มูลู (?MooLoo) โดยการฝึกแต่ละขั้นจะมีระยะห่างที่ไกลออกไปเรื่อยๆ
หากวัวทำการขับถ่ายในห้องน้ำมูลูก็จะได้รางวัลเป็นอาหารวัว
แต่หากวัวจะขับถ่ายนอกห้องน้ำปลอกคอที่ใส่อยู่จะสั่นเล็กน้อย
และหากยังขับถ่ายนอกห้องน้ำอีกก็จะถูกฉีดพ่นน้ำ
ทำให้วัวเกิดความรำคาญจนต้องเดินไปขับถ่ายในห้องน้ำด้วยตัวเอง
เรียกการฝึกแบบนี้ว่า “การฝึกแบบมีเงื่อนไข” การฝึกวัวแบบนี้จะเห็นผลได้ชัดเจนเมื่อใช้กับลูกวัว
โดยทีมนักวิจัยเผยว่า
ลูกวัวมีศักยภาพในการเรียนรู้การเข้าห้องน้ำได้เทียบเท่ากับเด็กวัยหัดเดิน
และควรฝึกในช่วงที่สามารถให้อาหารวัวได้
แต่การฝึกนี้อาจทำได้ยากสำหรับฟาร์มโคที่มีขนาดใหญ่ แนะนำให้แยกฝึกเป็นชุดๆ และติดตั้งเครื่องจ่ายอาหารเมื่อวัวขับถ่ายในห้องน้ำสำเร็จ
ถึงแม้จะมีค่าใช้จ่ายในการติดตั้งเครื่องและสร้างห้องน้ำมูลู
แต่หากเราฝึกวัวได้สำเร็จ วัวเหล่านี้จะติดนิสัยขับถ่ายในห้องน้ำไปจนโต
เกษตรกรจะได้อะไรจากการฝึกวัวกัน
สิ่งสำคัญที่ได้ก็คือช่วยลดก๊าซเรือนกระจกและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น
ก๊าซไนตรัสออกไซด์ที่เกิดจากสารแอมโมเนียในปัสสาวะของวัวผสมกับดินแล้วระเหยเป็นก๊าซ
และสารไนเตรดจากปัสสาวะของวัวที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งดินและแหล่งน้ำ
แต่หากวัวปัสสาวะในห้องน้ำมูลู เกษตรกรจะสามารถนำปัสสาวะไปบำบัดอย่างถูกวิธีได้
ในขณะเดียวกันมูลวัวที่แยกออกจากปัสสาวะและดินก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ เช่น
ทำเป็นปุ๋ยคอก ซึ่งปุ๋ยคอกมีสารอาหารมากเหมาะสำหรับใช้ปลูกข้าว
และทำเป็นก๊าซชีวภาพซึ่งถือว่าเป็นพลังงานหมุนเวียน
สิ่งเหล่านี้สามารถนำไปขายเพื่อสร้างรายได้เพิ่มอีกทาง แถมการใช้ห้องน้ำมูลูยังทำให้พื้นที่อยู่อาศัยของวัวสะอาดขึ้น
นอกจากนี้
การเรอของวัวยังทำให้เกิดก๊าซมีเทนในปริมาณมาก
โดยมีสาเหตุมาจากจุลินทรีย์ที่สามารถผลิตก๊าซมีเทนในปริมาณมากที่อยู่ในกระเพาะผ้าขี้ริ้วที่เป็นกระเพาะแรกของระบบย่อยอาหารในสัตว์เคี้ยวเอื้อง
แต่ได้มีงานวิจัยที่สามารถแก้ปัญหานี้ได้
อย่างการผสมพันธุ์วัวเพื่อให้ได้สายพันธุ์วัวที่มีจุลินทรีย์ที่ผลิตก๊าซมีเทนน้อยลงและมีจำนวนจุลินทรีย์น้อยลง
และจากการวิเคราะห์ชีวนิเวศจุลชีพในกระเพาะปัสสาวะ ปริมาณการป้อนอาหาร
การผลิตน้ำนม และการผลิตก๊าซมีเทนของวัว พบว่าชีวนิเวศจุลชีพในวัวมีผลกระทบด้านลบต่อปริมาณและคุณภาพของน้ำนมไม่มากนัก
ทั้งนี้การเปลี่ยนอาหารสำหรับเลี้ยงวัวก็สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซมีเทนจากวัวได้
เช่น การใช้สาหร่ายเลี้ยงวัว หรืออย่างธุรกิจเบอร์เกอร์คิง (Burger King) ที่ประกาศใช้ตะไคร้ในการเลี้ยงวัว
ซึ่งสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซมีเทนจากวัวได้มากถึงร้อยละ 33 ต่อวัน
ดังนั้น
เกษตรกรชาวไทยที่ทำฟาร์มวัวไม่ว่าจะเป็นรายใหญ่หรือรายย่อยก็สามารถช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้
โดยการศึกษาหาความรู้จากงานวิจัยและเทคโนโลยีต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
แล้วนำมาประยุกต์ใช้กับฟาร์มของตนตามแนวทาง “สมาร์ทฟาร์ม” (Smart farm) เพื่อให้ปศุสัตว์วัวไม่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ก๊าซเรือนกระจกเพิ่มมากขึ้น
และผู้ที่นิยมบริโภคเนื้อวัวและนมวัวก็ควรสนับสนุนผลิตภัณฑ์สินค้าที่ผลิตจากฟาร์มที่มีการจัดการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ที่มา : https://www.bbc.com/thai/international-58558226
ที่มา : https://www.thairath.co.th/news/local/1611033
ที่มา : http://ict.dld.go.th/.../reportservey2564/1530-2564-monthly
ที่มา : https://www.sanook.com/news/8212782/